วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2550

บทสวดพุทธคุณ พาหุง มหากา

พุทธคุณ พาหุง มหากา จากคำสอนหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน

หลวงพ่อจรัญ " พระพุทธคุณ อาตมาสังเกตมาว่า บางคนเขาไปหาหมอดูเคราะห์ร้ายก็ต้องสะเดาะเคราะห์ อาตมาก็มาดูเหตุการณ์โชคลางไม่ดีก็เป็นความจริงของหมอดู อาตมาก็ตั้งตำราขึ้นมาด้วยสติ บอกว่าโยมไปสวดพุทธคุณเท่าอายุให้เกินกว่า ๑ ให้ได้ เพื่อให้สติดี แล้วสวด "พาหุงมหากา" หายเลยสติก็ดีขึ้นเท่าที่ใช้ได้ผลสวดตั้งแต่ นะโม พุทธัง ธัมมัง สังฆัง พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ พาหุงมหากา จบแล้วย้อนกลับมาข้างต้น เอาพุทธคุณห้องเดียว ห้องละ ๑ จบ ต่อ ๑ อายุ อายุ ๔๐ สวด ๔๑ ก็ได้ผล "

<<เริ่มสวด>>
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

๑. บทพุทธคุณ อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะ สัมปันโน สุคะโต โลกะวิทูอนุตตะโร ปุริสะธัมมะสาระถิ สัตถาเทวมนุสสานัง พุทโธภะคะวาติ
๒. บทธรรมคุณ สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหิติ
๓. บทสังฆคุณ สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆสามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทังจัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆอาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

๔. บท
พุทธชัยมงคลคาถา (ถวายพรพระ)
๑. พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
๒. มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
๓. นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง เมตตัมพุเสกะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
๔. อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง ธาวันติโย ชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
๕. กัตตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
๖. สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
๗. นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
๘. ทุคคาหะ ทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถาโย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ
* ถ้าสวดให้คนอื่นใช้คำว่า เต สวดให้ตัวเองใช้คำว่า เม (เต แปลว่าท่าน - เม แปลว่าข้าพเจ้า)

๕. มหาการุณิโก
มหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง ปูเรตวา ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เต ชะยะมังคะลังฯชะยันโต โพธิยา มูเล สักยานัง นันทิวัฑฒะโน เอวัง ตะวัง วิชะโย โหหิ ชะยัสสุ ชะยะมังคะเล อะปะราชิตะปัลลังเก สีเส ปะฐะวิโปกขะเร อะภิเสเก สัพพะ พุทธานัง อัคคัปปัตโต ปะโมทะติฯ สุนักขัตตัง สุมังคะลัง สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง สุขะโณ สุมุหุตโต จะ สุยิฏฐัง พรัหมะ จารีสุ ปะทักขิณัง กายะกัมมัง วาจากัมมัง ปะทักขิณัง ปะทักขิณัง มโนกัมมัง ปะณิธี เต ปะทักขิณา ปะทักขิณานิ กัตวานะ ละภันตัดเถ ปะทักขิเณฯ ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา สัพพะพุทธา นุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต*ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา สัพพะธัมมา นุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต* ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา สัพพะสังฆา นุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต* * ถ้าสวดให้คนอื่นใช้คำว่า เต สวดให้ตัวเองใช้คำว่า เม (เต แปลว่าท่าน - เม แปลว่าข้าพเจ้า)
กราบ ๓ ครั้ง เสร็จ

แล้วสวดเฉพาะพุทธคุณ ดังต่อไปนี้
อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชา จาระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทูอะนุตตะโร ปุริสะทัม มะสาระถิ สัตถาเทวะ มะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

**ให้สวดพุทธคุณเกินอายุ ๑ จบ เช่น อายุ ๒๘ ปี ให้สวด ๒๙ จบ เมื่อสวดพุทธคุณครบตามจำนวนจบที่ต้องการแล้ว จึงตั้งจิตแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศลดังนี้

คาถาแผ่เมตตาตนเอง
อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข อะหัง นิททุกโข โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์ อะหัง อะเวโร โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวร อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรคอันตรายทั้งปวง สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขกายสุขใจ รักษากายวาจาใจให้พันจากความทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด

แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์
สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อนีฆา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย สุขีอัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิดฯ

บทกรวดน้ำ (อุทิศส่วนกุศล)
อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร - ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้า จงมีความสุข อิทัง เม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย - ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุข อิทัง เม คุรูปัชฌายาจริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ คุรูปัชฌายาจริยา - ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แด่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ จงมีความสุข อิทัง สัพพะ เทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา - ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลาย ขอให้เทวดาทั้งหลายจงมีความสุข อิทัง สัพพะเปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา - ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เปรตทั้งหลาย ขอให้เปรตทั้งหลาย จงมีความสุข อิทัง สัพพะ เวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเวรี - ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงมีความสุข อิทัง สัพพะสัตตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพสัตตา - ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข
<<จบบทสวด>>

----------------------------------------

คำแปล "พาหุงมหากา" หรือ "พุทธชัยมงคลคาถา" มีอยู่ ๘ บท และมีความมุ่งหมายแตกต่างกันทั้งแปดบท กล่าวคือบทที่ ๑ สำหรับเอาชนะศัตรูหมู่มาก เช่น ในการสู้รบ บทที่ ๒ สำหรับเอาชนะใจคนที่กระด้างกระเดื่องเป็นปฏิปักษ์ บทที่ ๓ สำหรับเอาชนะสัตว์ร้ายหรือคู่ต่อสู้ บทที่ ๔ สำหรับเอาชนะโจร บทที่ ๕ สำหรับเอาชนะการแกล้ง ใส่ร้ายกล่าวโทษหรือคดีความ บทที่ ๖ สำหรับเอาชนะการโต้ตอบ บทที่ ๗ สำหรับเอาชนะเล่ห์เหลี่ยมกุศโลบาย บทที่ ๘ สำหรับเอาชนะทิฏฐิมานะของคน
เราจะเห็นได้ว่า ของดีวิเศษอยู่ในนี้ และถ้าพูดถึงการที่จะเอาชนะหรือการแสวงหาความมีชัย ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรนอกเหนือไปจาก ๘ ประการที่กล่าวข้างต้น ก่อนที่จะนำเอาตัวคาถาบทสวดมนต์และคำแปลมาไว้ให้จำจะต้องทำความเข้าใจคำอธิบายบทต่างๆ ไว้พอสมควรก่อน เพราะความในคาถาเองเข้าใจยาก ถึงจะแปลออกมาก็ยังเข้าใจยากอยู่นั่นเอง เมื่อเราไม่เข้าใจเราอาจจะไม่เกิดความเลื่อมใส จึงควรจะหาทางทำความเข้าใจกันให้แจ่มแจ้งไว้ก่อน
ในบทที่ ๑. เป็นเรื่องผจญมาร ซึ่งมีเรื่องว่าพระยามารยกพลใหญ่หลวงมา พระพุทธเจ้าก็ทรงสามารถเอาชนะได้ จึงถือเป็นบทสำหรับเอาชนะศัตรูหมู่มาก เช่น ในการสู้รบ คำแปล- พระยามารผู้นิรมิตแขนได้ตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ ขี่ช้างชื่อ ครีเมขละ พร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องมาองค์พระจอมมุนีก็เอาชนะมารได้ ด้วยทานบารมีด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
ในบทที่ ๒. เรื่องเล่าว่า มียักษ์ตนหนึ่ง ชื่ออาฬะวกะ เป็นผู้มีจิตกระด้างและมีกำลังยิ่งกว่าพระยามาร พยายามมาใช้กำลังทำร้ายพระองค์อยู่จนตลอดรุ่ง ก็ทรงทรมานยักษ์ตนนี้ให้พ่ายแพ้ไปได้จึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะปฏิปักษ์หรือคู่ต่อสู้ คำแปล- อาฬะวกะยักษ์ผู้มีจิตกระด้าง ปราศจากความยับยั้ง มีฤทธิ์ใหญ่ยิ่งกว่าพระยามารเข้ามาประทุษร้ายอยู่ตลอดรุ่ง องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยขันติบารมี ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
ในบทที่ ๓. มีเรื่องว่าเมื่อพระเทวทัตทรยศต่อพระพุทธเจ้า ได้จัดการให้คนปล่อยช้างสาร ที่กำลังตกมันชื่อนาฬาคีรีเพื่อมาทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่เมื่อช้างมาถึงก็ไม่ทำร้าย จึงถือเป็นบทที่เอาชนะสัตว์ร้าย คำแปล- ช้างตัวประเสริฐ ชื่อนาฬาคีรี เป็นช้างเมามัน โหดร้ายเหมือนไฟไหม้ป่า มีกำลังเหมือนจักราวุธ และสายฟ้า องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยพระเมตตาบารมีด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
ในบทที่ ๔. เป็นเรื่องขององคุลีมาล ซึ่งเรารู้กันแพร่หลาย คือ องคุลีมาลนั้นอาจารย์บอกไว้ว่าถ้าฆ่าคนและตัดนิ้วมือมาร้อยเป็นสร้อยคอ ให้ได้ครบพัน ก็จะมีฤทธิ์เดชยิ่งใหญ่ องคุลีมาลฆ่าคนและตัดนิ้วมือได้ ๙๙๙ เหลืออีกนิ้วเดียวจะครบพัน ก็มาพบพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าทรงสามารถเอาชนะถึงกับองคุลีมาลเลิกเป็นโจรและยอมเข้ามาบวช กลายเป็นสาวกองค์สำคัญองค์หนึ่งจึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะโจรผู้ร้าย คำแปล- โจร ชื่อ องคุลีมาล มีฝีมือเก่งกล้า ถือดาบเงื้อวิ่งไล่พระองค์ไปตลอดทาง ๓ โยชน์ องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยการกระทำปาฏิหาริย์ ด้วยเดชะอันนี้ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
ในบทที่ ๕. หญิงคนหนึ่งมีนามว่า จิญจมาณวิกา ใส่ร้ายพระพุทธเจ้า โดยเอาไม้กลมๆ ใส่เข้าที่ท้องแล้วก็ไปเที่ยวป่าวข่าวให้เล่าลือว่าตั้งครรภ์กับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะ ให้ความจริงปรากฏแก่คนทั้งหลายว่าเป็นเรื่องกล่าวร้ายใส่โทษพระองค์โดยแท้ จึงถือเป็นบทที่เอาชนะคดีความหรือการกล่าวร้ายใส่โทษ คำแปล- นางจิญจมาณวิกาใช้ไม้มีสัณฐานกลมใส่ที่ท้อง ทำอาการประหนึ่งว่ามีครรภ์ เพื่อกล่าวร้ายพระพุทธเจ้าองค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยวิธีสงบ ระงับพระทัยในท่ามกลางหมู่คน ด้วยเดชะอันนี้ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
ในบทที่ ๖. เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะสัจจะกะนิครนถ์ ซึ่งเป็นคนเจ้าโวหาร เข้ามาโต้ตอบกับพระพุทธเจ้าจึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะในการโต้ตอบ คำแปล- สัจจะกะนิครนถ์ ผู้มีนิสัยละทิ้งความสัตย์ใฝ่ใจจะยกย่องถ้อยคำของตนให้สูงประหนึ่งว่ายกธงเป็นผู้มืดมัวเมาองค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยรู้นิสัยแล้วตรัสเทศนาด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
ในบทที่ ๗. เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้า ให้พระโมคคัลลาน์ อัครมหาสาวกไปต่อสู้เอาชนะพระยานาคชื่อ นันโทปนันทะ ผู้มีเล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้มากหลาย จึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะเล่ห์เหลี่ยมกุศโลบาย คำแปล- องค์พระจอมมุนี ได้โปรดให้พระโมคคัลลาน์เถระ นิรมิตกายเป็นนาคราช ไปทรมานพระยานาคชื่อ นันโทปนันทะ ผู้มีฤทธิ์มากให้พ่ายแพ้ด้วยวิธีอันเป็นอุปเท่ห์แห่งฤทธิ์ ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
ในบทที่ ๘. เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะ ผกาพรหม ผู้มีทิฏฐิแรงกล้าสำคัญว่าตนเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุด แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงสามารถทำให้ผกาพรหมยอมละทิ้งทิฏฐิมานะ และยอมว่าพระพุทธเจ้าสูงกว่า จึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะทิฏฐิมานะของตน คำแปล- พรหม ผู้มีนามว่า ท้าวผกา มีฤทธิ์และสำคัญตน ว่าเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยคุณอันบริสุทธิ์มีทิฏฐิที่ถือผิดรัดรึงอยู่อย่างแน่นแฟ้น องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ด้วยวิธีเทศนาญาณ ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา คำแปล มหาการุณิโก สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณา ทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้งปวง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุด ด้วยการกล่าวสัจจวาจานี้ ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ข้าพเจ้า
ขอข้าพเจ้าจงมีชัยชนะในชัยมงคลพิธี ดุจพระจอมมุนีผู้ยังความปีติยินดีให้เพิ่มพูนแก่ชาวศากยะ ทรงมีชัยชนะมาร ณ โคนต้นมหาโพธิ์ทรงถึงความเป็นเลิศยอดเยี่ยม ทรงปีติปราโมทย์อยู่เหนืออชิตบัลลังก์อันไม่รู้พ่าย ณ โปกขรปฐพี อันเป็นที่อภิเษกของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ฉะนั้นเถิด เวลาที่กำหนดไว้ดี งานมงคลดี รุ่งแจ้งดี ความพยายามดี ชั่วขณะหนึ่งดี ชั่วครู่หนึ่งดี การบูชาดี แด่พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ กายกรรมอันเป็นกุศล วจีกรรมอันเป็นกุศล มโนกรรมอันเป็นกุศล ความปรารถนาดีอันเป็นกุศล ผู้ได้ประพฤติกรรมอันเป็นกุศล ย่อมประสบความสุขโชคดี เทอญ
ขอสรรพมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า ขอเหล่าเทพยดาทั้งปวงจงรักษาข้าพเจ้า ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า ขอความสุขสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ
ขอสรรพมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า ขอเหล่าเทพยดาทั้งปวงจงรักษาข้าพเจ้า ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ขอความสุขสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ
ขอสรรพมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า ขอเหล่าเทพยดาทั้งปวงจงรักษาข้าพเจ้า ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ขอความสุขสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ

--------------------------------------
ที่มาและอานิสงส์ของบทสวดมนต์ ชัยมงคลคาถา หรือพาหุงมหาการุณิโก ที่มาของบทสวดมนต์ชัยมงคลคาถา อาตมาได้ตำราเก่าแก่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นใบลานทองคำจารึกของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ปัจจุบันเรียกว่า วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา ได้รจนาถวายพระพรชัยมงคลคาถาแก่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระพนรัตน์เป็นอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อานิสงส์ของบทสวดมนต์ชัยมงคลคาถา หรือพาหุงมหากา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่เคยแพ้ทัพ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ไม่เคยแพ้ทัพ พระชัยหลังช้างของ ร.๑ นั้นมาจากบทพาหุง มหากา ผู้ใดสวดมนต์ชัยมงคลคาถา หรือพาหุงมหากา เป็นประจำทุกๆ วันแล้ว มีแต่ชัยชนะทุกประการ เรียนหนังสือก็เกิดปัญญา มีแต่ความเก่งกล้าสามารถ ผู้ใดสวดทุกเช้า ค่ำ คิดสิ่งใดที่ดีเป็นมงคล จะสมความปรารถนาทุกประการ
เมื่ออาตมา(หลวงพ่อจรัญ)ได้พบกับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว คืนวันหนึ่งอาตมานอนหลับแล้ว ฝันไปว่า อาตมาได้เดินไปในสถานที่แห่งหนึ่งได้พบกับพระสงฆ์รูปหนึ่งครองจีวรคร่ำ สมณสารูปเรียบร้อยน่าเลื่อมใส อาตมาเห็นว่าเป็นพระอาวุโสผู้รัตตัญญูจึงน้อมนมัสการท่าน ท่านหยุดยืนตรงหน้าอาตมาแล้วกล่าวกับอาตมาว่า "ฉันคือสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้วแห่งกรุงศรีอยุธยา ฉันต้องการให้เธอได้ไปที่วัดใหญ่ชัยมงคล เพื่อดูจารึกที่ฉันได้จารึกถวายพระเกียรติแก่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้เป็นเจ้า เนื่องในวาระที่สร้างพระเจดีย์ฉลองชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาแห่งพม่าและประกาศความเป็นอิสระของประเทศไทยจากหงสาวดีเป็นครั้งแรก เธอไปดูไว้แล้วจดจำมาเผยแพร่ออกไป ถึงเวลาที่เธอจะได้รับรู้แล้ว" ในฝันอาตมารับปากท่าน ท่านก็บอกตำแหน่งให้แล้วก็ตกใจตื่นนอนใกล้รุ่ง อาตมาก็ทบทวนความฝันก็นึกอยู่ในใจว่าเราเองนั้นกำหนดจิตด้วยพระกรรมฐานมีสติอยู่เสมอเรื่องฝันฟุ้งซ่านก็เป็นไม่มี อาตมาก็ได้ข่าวในวันนั้นแหละว่า ทางกรมศิลปากรทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ใหญ่ในวัดใหญ่ชัยมงคลและจะทำการบรรจุบัวยอดพระเจดีย์ อันเป็นนิมิตหมายการสิ้นสุดการบูรณะ และจะรื้อนั่งร้านทั้งหมดออกเสร็จสิ้น อาตมาจึงได้ขอร้อง ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร ให้เลื่อนการปิดยอดบัวไปอีกวันหนึ่งเพื่อที่อาตมาจะได้นำพระซุ้มเสมาชัย ซุ้มเสมาขอ ที่อาตมาได้สร้างขึ้นตามแบบดั้งเดิมที่พบในเจดีย์ใหญ่ใกล้กับวัดอัมพวัน ซึ่งพังลงน้ำที่ก๋งเหล็งเป็นคนรวบรวมเอาให้อาตมาตั้งแต่เมื่อเริ่มมาพัฒนาวัดใหม่ๆ แต่แตกหักผุพังทั้งนั้น หลายสิบปี๊บ อาตมาได้ป่นเอามาผสมสร้างเป็นองค์พระใหม่ ไปร่วมบรรจุไว้ที่ยอดพระเจดีย์บ้าง
วันนั้นอาตมาเดินทางไปถึงก็ได้เดินขึ้นไปบนเจดีย์ตอนที่สุดบันไดแล้ว มองเห็นโพรงที่ทางเขาทำไว้สำหรับลงไปด้านล่างมีร้านไม้พอไต่ลงไปภายใน ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าลงไปคราวนี้ ถ้าพลาดตกลงไปจากนั่งร้านม้าก็ยอมตายคนที่ร่วมเดินทางมาเขามัวแต่ไปบนลานชั้นบน อาตมาก็ดิ่งลงไปชั้นล่าง มีไฟฉายดวงหนึ่ง เวลานั้นประมาณ ๐๙.๐๐ น.อาตมาลงไปภายในแล้วก็พบนิมิตดังที่สมเด็จพระพนรัตน์ได้บอกไว้จริงๆ อาตมาจึงได้พบว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่สมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้วท่านได้จารึกถวายพระพร ก็คือบทสวดที่เรียกว่า "พาหุงมหาการุณิโก" ท้ายของนิมิตนั้นระบุว่า "เราสมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้วศรีอโยธเยศ คือผู้จารึกนิมิตรจนาเอาไว้ถวายพระพรแด่มหาบพิตรเจ้าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" พาหุงมหากาก็คือบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วก็พรพาหุงอันเริ่มด้วย"พาหุงสหัสไปจนถึงทุคคาหทิฏฐิ แล้วเรื่อยไปจนถึงมหาการุณิโกนาโถหิตายะและจบลงด้วยภาวะตุ สัพพะมังคะลัง สัพพะพุทธา สัพพะธัมมา สัพพะสังฆา นุภาเวนะสะทาโสตถี ภะวันตุเต" อาตมา เรียกรวมกันว่าพาหุงมหากา อาตมาจึงเข้าใจในบัดนั้นเองว่า บทพาหุงนี้คือบทสวดมนต์ที่สมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้วได้ถวายให้พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้สวดเป็นประจำเวลาอยู่กับพระมหาราชวังและในระหว่างศึกสงครามจึงปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้าทรงรบ ณ ที่ใด ทรงมีชัยชนะอยู่ตลอดมามิได้ทรงเพลี่ยงพล้ำเลยแม้จะเพียงลำพังสองพระองค์กับสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ท่ามกลางกองทัพพม่าจำนวนนับแสนคนก็ทรงมีชัยชนะเหนือกองทัพพม่าด้วยการกระทำยุทธหัตถีมีชัยเหนือพระมหาอุปราชาที่ดอนเจดีย์ปูชนียสถานแม้ข้าศึกจะยิงปืนไฟเข้าใส่พระองค์ในตอนที่เข้ากันพระศพของพระมหาอุปราชาออกไปราวกับห่าฝนก็มิปานแต่ก็มิได้ต้องพระองค์ ด้วยเดชะพาหุงมหากาที่ทรงเจริญอยู่เป็นประจำนั่นเอง
อาตมาพบนิมิตแล้วก็ไต่ขึ้นมา ด้วยความสบายใจถึงปากปล่องที่ลงไปเกือบสามชั่วโมง เนื้อตัวมีแต่หยากไย่ เดินลงมาแม่ชีเห็นเข้ายังร้องว่า หลวงพ่อเข้าไปในโพรงนั่นมาหรือ แต่อาตมาไม่ตอบ ตั้งแต่นั้นมา อาตมาจึงสอนการสวดพาหุงมหากาให้แก่ญาติโยมเป็นต้นมา เพราะอะไร เพราะพาหุงมหากานั้นเป็นบทสวดมนต์ที่มีค่าที่สุด มีผลดีที่สุด เพราะเป็นชัยชนะอย่างสูงสุดของพระบรมศาสดาจากพญาวัสวดีมาร จากอาฬาวกะยักษ์ จากช้างนาฬาคิรี จากองคุลีมาล จากนางจิญมาณวิกา จากสัจจะกะนิครนถ์ จากพญานันโทปนันทนาคราช และท่านท้าวผกาพรหม เป็นชัยชนะที่พระพุทธองค์ทรงได้มาด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ และด้วยอำนาจแห่งบารมีธรรมโดยแท้ ผู้ใดได้สวดไว้ประจำทุกวันจะมีชัยชนะมีความเจริญรุ่งเรืองตลอดกาลนาน มีสติระลึกได้ จะตายก็ไปสู่สุคติภูมิ ขอให้ญาติโยมสวดพาหุงมหากากันให้ทั่วหน้า นอกจากจะคุ้มตัวแล้ว ยังคุ้มครอบครัวได้ สวดมากๆ เข้า สวดกันทั้งประเทศก็ทำให้ประเทศมีแต่ความรุ่งเรือง พวกคนพาลสันดานหยาบก็แพ้ภัยไปอย่างถ้วนหน้า
ไม่ใช่แต่พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่านั้นที่พบความมหัศจรรย์ของบทพาหุงมหากา แม้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงพบเช่นกันโดยมีบันทึกโบราณบอกไว้ว่าดังนี้ "เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชตีเมืองจันทบุรีได้แล้วก็ทรงเห็นว่าสงครามกู้ชาติต่อจากนี้ไปจะต้องหนักหนาและยืดยาวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระยอดธงแบบศรีอยุธยาขึ้นแล้วนิมนต์พระเถระทั้งหลายมาสวดบทพาหุง มหากาบรรจุไว้ในองค์พระและพระองค์ก็ทรงเจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วยการเจริญพาหุงมหากาจึงบันดาลให้ทรงกู้ชาติสำเร็จ" สวดพาหุงมหากากันให้ได้ทุกบ้าน สวดให้ได้มากๆ จะมีแต่ความรุ่งเรือง สวดพาหุงมหากาก่อนแล้วจึงสวดชินบัญชร เพราะชินบัญชรนั้นเจ้าประคุณสมเด็จท่านได้สวดบูชาพระอรหันต์ของท่าน ต้องสวดพาหุงมหากาก่อนแล้วจึงมาถึงชินบัญชรให้จดจำกันเอาไว้ นั่นแหละมงคลในชีวิต อันที่จริงถ้าเราทำบุญ เราจะได้ยินพระสวดคาถา "พาหุงมหากา" หรือ "พุทธชัยมงคลคาถา" ให้เราฟังทุกครั้ง บางทีเราจะเคยได้ยินพระสวดเจนหูเกินไปจนไม่นึกว่ามีความสำคัญ แท้จริงแล้วคาถาดังกล่าวนี้ มีของดีอยู่ในตัวให้เราใช้มากทุกบททุกตอน เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า อ้างอานุภาพของพระพุทธเจ้าเพื่อนำชัยมงคลมาให้แก่เรา ทุกตอนลงท้ายว่า "ตันเตชะสา ภะวะตุเต ชะยะมังคะลานิ" เวลาพระสวดให้เรา ท่านต้องใช้คำว่า "เต" ซึ่งแปลว่า "แก่ท่าน" แต่ถ้าเราจะเอามาสวดหรือภาวนาของเราเอง เพื่อให้ชัยชนะเกิดแก่ตัวเราเอง เราก็จะต้องใช้ว่า "เม" ซึ่งแปลว่า "แก่ข้า" คือสวดว่า "ตันเตชะสา ภะวะตุเม ชะยะมังคะลานิ"

วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เทคโนโลยีสารสนเทศคุณภาพกับการพัฒนาการศึกษา


บุญญาพร บุญชัย
นักศึกษาระดับปริญญาเอก
สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศคุณภาพ
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี


บทนำ
การพัฒนาไอทีของประเทศไทย ควรพัฒนาตั้งแต่พื้นความรู้ของประชาชน การสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐานทางด้านไอที ต้องให้ประชาชนคนไทยเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ตั้งแต่การใช้บริการต่าง ๆ ที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดบริการ การใช้เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่อีกมากมาย โดยเฉพาะเครื่องมือช่วยสนับสนุนการทำงานต่าง ๆ ช่วยบันทึกและจัดเก็บข้อมูล ช่วยคำนวณ ตลอดจนช่วยสั่งข้อมูลสื่อสารระหว่างกัน โดยมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญที่จะพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อนำมาใช้กับการเรียนการสอนการบริหารและการวิจัยของมหาวิทยาลัยให้ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อสังคมภายนอกได้ ดังกรอบนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเป้าหมายให้เป็น e-University โดยผสมผสานกับกระบวนการจัดการแบบปกติในกรณีที่จำเป็น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประหยัด รวดเร็ว ปรับปรุงคุณภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอน ให้มีความทันสมัย ก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนา การวิจัย เพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ ส่งเสริมและพัฒนาวิชาการด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แก่สังคมและชุมชน

การศึกษาในมหาวิทยาลัย
การสร้างองค์ความรู้ (Knowledge Constructor) และงานวิจัย มหาวิทยาลัยในยุคใหม่จะต้องเป็นผู้สร้างองค์ความรู้และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทางด้านวิชาการ เช่น งานการค้นคว้าวิจัย งานบัณฑิตศึกษาที่ต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ งานเหล่านี้จำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วยเพิ่มขีดความสามารถเชิงการคำนวณ เชิงการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมากและรวดเร็ว การวิเคราะห์ข้อมูล การเผยแพร่และสร้างระบบการเชื่อมโยงกับนักวิจัยอื่นทั่วโลก การเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ ไอทีได้เข้ามามีบทบาทในการเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ได้มาก มีระบบมัลติมีเดียที่เรียกดูตามความต้องการ (Education on Demand) มีระบบวิดีโอ ทีวีบนเว็บ มีระบบวิทยุบนเครือข่าย มีโฮมเพจทางวิชาการต่าง ๆ มากมาย กิจกรรมการเรียนการสอน จะช่วยทำให้เสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย
การกระจายโอกาสทางการศึกษา มหาวิทยาลัยในระบบ e-University สามารถกระจายพื้นที่การให้บริการได้มาก เพราะสามารถใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกล (Tele Education) การเรียนการสอนแบบ e-Classroom โดยกระจายให้ผู้เรียนเรียนจากที่ห่างไกล และกระจายขอบเขตการศึกษาในทุกด้านที่มหาวิทยาลัยจะให้บริการได้ ตั้งแต่ระดับก่อนมหาวิทยาลัย ระดับวิชาชีพเฉพาะ และการศึกษาแบบต่อเนื่อง
โมเดลของ e-University จึงอยู่ที่ประชาคมของมหาวิทยาลัยทุกคนจะเป็นผู้เข้าใช้ระบบ นิสิตเป็นผู้เรียกเข้าหาเครือข่าย สามารถเรียกใช้จากทุกหนทุกแห่ง แม้แต่การเรียกเข้าผ่านปาล์มท้อป โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์มือถือ แลปท้อป โน้ตบุค คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล การเข้าถึงเครือข่ายทำได้ทุกหนทุกแห่ง มีตั้งแต่ระบบไร้สาย (wireless) ระบบเรียกผ่านโมเด็มและใช้สายโทรศัพท์ที่บ้าน ใช้ระบบเคเบิ้ลโมเด็ม ระบบแลน แวน หรือวิธีการเชื่อมต่ออื่น ๆ การดำเนินกิจกรรมทางด้านการเรียนการสอนจะผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ใช้ e-Book e-Library ใช้โฮมเพจเป็นตัวแทน นิสิตทุกคนมีโฮมเพจของตนเองอยู่บนเครือข่ายของมหาวิทยาลัย อาจารย์ผู้สอนมีโฮมเพจและสร้างบทเรียนไว้บนเครือข่าย นิสิตส่งการบ้านผ่านเครือข่ายโดยสร้างเป็นโฮมเพจไว้ การจัดส่งการบ้านและการสื่อสารหลายอย่างใช้อิเล็กทรอนิกส์แทนกระดาษ

คุณภาพ
การทำงานด้านใดก็ตามแม้แต่ด้านการศึกษา ย่อมต้องมีการรักษาระดับคุณภาพ ที่สังคมยอมรับ และพัฒนาระดับคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น คำว่า “คุณภาพ” Philips Crossby ได้ให้ความหมาย ไว้ว่า คือการตอบสนองต่อความต้องการ (Needs) และความคาดหวัง (Expectation) ของลูกค้า ทั้งนี้ลูกค้ามีทั้งลูกค้าภายในและลูกค้าภายนอก แต่ที่สำคัญมากที่สุดคือลูกค้าภายนอก ซึ่งเป็นลูกค้าที่มีผลต่อความอยู่รอดขององค์การ เมื่อต้องทำผลงานให้ลูกค้า จึงต้องมองให้ออกว่าอะไรคือความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็จะตอบสนองได้ไม่ตรงใจลูกค้า ส่งผลต่อความพึงพอใจของลูกค้าได้ และลูกค้าอาจจะไม่มาใช้บริการหรือซื้อสินค้า เราก็อยู่ไม่ได้ เหมือนกับเรามองว่าความต้องการของคนไข้คลอดคือมาคลอด แต่จริงแล้วเขาต้องการให้ทั้งลูกและแม่ปลอดภัยด้วย
คุณภาพจึงไม่ใช่แค่ทำงานให้ไม่บกพร่อง ไม่มีปัญหาหรือไม่ผิดพลาดเท่านั้น แต่ต้องทำให้ลูกค้าเกิด ความรู้สึกยอมรับ อยากได้และชื่นชมด้วย คุณภาพที่สร้างความพึงพอใจของลูกค้า แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Must be Quality คุณภาพชนิดที่พึงต้องมี ถ้าไม่มีไม่ซื้อหรือไม่มาใช้บริการ เป็นคุณลักษณะสำคัญที่ขาดไม่ได้ของสินค้าหรือบริการชนิดนั้น ๆ เช่น โทรทัศน์ต้องมีภาพเป็นสีตามธรรมชาติไม่ใช่มีเพียงสีขาวดำ ถ้าเป็นบริการด้านสุขภาพก็เช่นกัน การบริการทำคลอดที่ต้องมีลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย ถ้ามาทำคลอดแล้วมีปัญหาแม่ตายหรือลูกตายจะไม่มีใครมาคลอด อีกอย่างคือ Attractive Quality คือ คุณภาพชนิดดึงดูดใจ ถ้ามีจะทำให้ลูกค้าอยากมาใช้บริการมากขึ้นหรือมาซื้อสินค้ามากขึ้น เช่นการมีรีโมท รูปลักษณ์น้ำหนัก การออกแบบที่น่าใช้ คุณภาพที่ดึงดูดใจเมื่อใช้ไปนาน ๆ มักจะกลายไปเป็นคุณภาพที่พึงต้องมี ทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกทำให้ดึงดูดใจน้อยลง เช่น รีโมททีวีเมื่อก่อนเป็นคุณภาพที่ดึงดูดใจแต่ปัจจุบันกลายเป็นคุณภาพที่พึงต้องมี ถ้าไม่มีลูกค้าจะไม่ซื้อ ในกรณีของการคลอดที่ต้องมีภาวะลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัยเป็นคุณภาพที่พึงต้องมี โดยคุณภาพที่ดึงดูดใจเช่นการให้สามีอยู่ให้กำลังใจภรรยาในห้องคลอดได้ การถ่ายรูปลูกแรกคลอดให้เป็นที่ระลึก การให้เกียรติบัตรพร้อมบันทึกรอยฝ่าเท้าลูกไว้ เป็นต้น
ผู้มารับบริการจะเกิดคุณภาพที่รู้สึกยอมรับ อยากได้และชื่นชมได้นั้น จะต้องได้รับทั้งคุณภาพที่พึงต้องมีและคุณภาพที่ดึงดูดใจ จึงจะเกิดความรู้สึกพึงพอใจได้

หลักการหรือแนวคิดของ Six Sigma
หากต้องการให้คุณภาพเป็นที่ยอมรับควรมีการนำวิธี Six Sigma เข้ามาช่วย เพราะวิธี Six Sigma นั้นเป็นวิธีที่มีรากฐานมาจากวิทยาศาสตร์และสถิติซึ่งสมารถพิสูจน์ได้ พร้อมทั้งมีหลักการและวิธีทำที่แน่นอน Six Sigma เป็นวิธีที่ไม่ได้วัดจากความรู้สึก ดังนั้นจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมกับองค์กรที่ให้ความสำคัญแก่ข้อมูล สารสนเทศ และความรู้ (Park, 2003)
หลักการหรือแนวคิดของ Six Sigma มีพื้นฐานมาจากแนวความคิดในเชิงสถิติภายใต้สมมติฐานที่ว่า 1. ทุกสิ่งทุกอย่างคือกระบวนการ 2. กระบวนการทุกกระบวนการมีการแปรปรวนแบบหลากหลาย (Variation) อยู่ตลอดเวลา 3. การนำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดความเข้าใจในธรรมชาติของการแปรปรวนแบบหลากหลาย จะนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการให้ดียิ่งขึ้น

สรุป
การศึกษาที่ดีควรจะมีคุณค่าต่ออาชีพและชีวิตของนิสิต การศึกษาควรจะสร้างนิสิตให้เป็นสมาชิกที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่การที่จะปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาอย่างละเอียด อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการยกตัวอย่างในการประยุกต์ใช้วิธี Six Sigma ในการปรับปรุงการศึกษา โดยเลือกพิจารณาหนึ่งในดรรชนีชี้วัดเรื่อง เปอร์เซ็นต์ของนิสิตที่สำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์เวลาที่กำหนดให้ โดยที่จะพิจารณาว่าอุปสรรคที่ทำให้นิสิตไม่สามารถที่จะสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์เวลา คือ ดีเฟคของสินค้าหรือผลผลิต ดังนั้นสินค้าที่ไม่มีดีเฟค เปรียบเสมือนนิสิตที่สำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์เวลา
การปรับปรุงและรักษาคุณภาพของการศึกษา ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ (Stakeholder) ด้วย ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้รวมไปถึง อาจารย์และบุคลากรของสถาบัน นิสิต ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม และอาจจะรวมไปถึงสังคมด้วย ความคิดเห็นและกระแสของสังคม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมเป็นเรื่องที่ได้รับผลกระทบ มักทำหน้าที่เป็นเครื่องมือโดยทางอ้อมในการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมของสถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงในด้านวัฒนธรรมและมาตรฐานทางจริยธรรมของสังคม องค์กรที่สามารถปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมจะมีโอกาสที่จะอยู่รอดและประสบความสำเร็จ สถาบันการศึกษาก็เช่นกันที่ต้องมีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลาเพื่อการอยู่รอด

เอกสารอ้างอิง

กันยรัตน์ คมวัชระ, การนำ Six Sigma มาประยุกต์ในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา, วารสารประกัน
คุณภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2547.
http://www.ku.ac.th/e-magazine/december45/it/itp.html
http://www.ku.ac.th/e-university/index01.html
http://gotoknow.org/blog/practicallykm/16345
Park SH. Six Sigma for Quality and Productivity Promotion. Asian Productivity Organization,
Tokyo, 2003.